สำหรับท่านที่เดินทางไปในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้คงจะได้ยินประชาชนในท้องถิ่นพูดภาษามลายูถิ่นที่มีสำเนียงคล้ายๆ ภาษามาเลเซีย แต่ถ้ามาฟังใกล้ๆก็จะมีเสียงที่แตกต่าง บางคำก็คล้ายกัน บางสำนวน ก็ไม่เหมือนเลย จริงๆ แล้วก็คล้ายกับเราพูดภาษาใต้ ภาษาเหนือ ภาษาอีสานนั้นเอง สมัยเด็กๆ ผู้เขียนจะต้องฝึกพูดภาษาไทยกลาง เพื่อไม่ให้พูดออกเสียงสำเนียงภาษาใต้ หรือบางคนเรียกว่าทองแดงแต่ปัจจุบันนี้ ผู้เขียนกลับมองว่าใครสามารถพูดภาษาท้องถิ่นได้ น่าจะเป็นความสามารถพิเศษที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษของเรา อย่างน้อยพอมีคนถามว่า พูดได้กี่ภาษา ผู้เขียนก็สามารถตอบได้ว่า พูดภาษาไทยกลาง ภาษาอังกฤษภาษาฝรั่งเศส ภาษาใต้ (สงขลา) รวมเป็น ๔ ภาษา ฟังแล้วดูดีเหลือเกิน
ส่วนภาษามลายูถิ่นนั้น ผู้เขียนได้เริ่มอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ สมัยศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี และได้เขียนบทความแนะนำการศึกษาภาษามลายูถิ่น เป็นระยะๆ เนื่องจากมองว่า ภาษามลายูถิ่นถือเป็นภาษาหลักที่ใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนใต้ ควรที่จะได้เรียนรู้ ฝึกฝนการใช้ภาษามลายูถิ่นเพื่อสร้างความเข้าใจและเข้าถึงการทำงานในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้ริเริ่มการดำเนินโครงการวิจัยเกี่ยวกับภาษามลายูถิ่นมาเป็นเวลา ๒-๓ ปี และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.๒๕๕๘ นี้
คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่า พี่น้องมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยส่วนใหญ่พูด “ภาษายาวี” ทว่าในความจริงแล้วยาวีไม่ใช่เป็นภาษานะคะ แต่เป็น “อักษร”ค่ะ อักษรยาวีเป็นอักษรที่ใช้เขียนภาษามลายูที่ดัดแปลงมาจากอักษรอาหรับ (อารบิก) โดยนักปราชญ์ชาวปัตตานีชื่อ ชัยคฺอะฮฺมัด อัล-ฟะฏอนีย์ที่ได้วางกฎเกณฑ์หลักการใช้อักษรยาวีเพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการเขียนภาษามลายูในท้องถิ่น อักษรยาวีมักจะใช้ในการบันทึกเรื่องราวทางศาสนา และการสื่อสารต่าง ๆ เป็นต้น นักเรียนในโรงเรียนปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเริ่มเรียนอักษรยาวีสำหรับอ่าน เขียนภาษาอาหรับตั้งแต่เด็กๆ คำว่า ยาวี มาจากคำว่า jawaหมายถึง ชวา เนื่องจาก ชาวชวาได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในมะละกาและปัตตานีตั้งแต่ในอดีต จึงได้นำอักษรอาหรับมาดัดแปลงเผยแพร่ และในที่สุดนิยมนำมาใช้ในชุมชนที่พูดภาษามลายูปัตตานีมาช้านาน ตัวอย่าง เช่น
อักษรไทย / อักษรยาวี / อักษรรูมี / คำอ่าน
วันจันทร์ / نينثا / Isnin / อิสนิน
วันอังคาร / ثالث / Selasa / ซลาซา
วันพุธ / وبار / Rabu / ราบู
วันพฤหัสบดี / سيمخ / Khamis / คามิส
วันศุกร์ / ةعمج / Jumaat / จูมาอัต
วันเสาร์ / وتبس / Sabtu / ซับตู
วันอาทิตย์ / دحا / Ahad / อาฮัด
ส่วนภาษามลายูถิ่นหรือภาษามลายูปัตตานี นั้น เราเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Pattani Malay’ ซึ่งเป็นภาษากลุ่มออสโตรนีเซียน ที่พูดโดยชาวไทยเชื้อสายมลายูในพื้นที่จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และในบางอำเภอของจังหวัดสงขลา (ไม่รวมสตูล) ภาษานี้ ใกล้เคียงมากกับภาษาถิ่นในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งพูดภาษาถิ่นที่แตกต่างจากส่วนที่เหลือของประเทศมาเลเซีย เรามาฝึกออกเสียงภาษามลายูถิ่นที่ใช้ในชีวิตประจำวันกันค่ะ เช่น
๑. การนับเลข
1 = ซาตู 2 = ดูวอ 3 = ตีฆอ 4 = ปะ 5 = ลีมอ
6 = แน 7 = ตูโญะ 8 = ลาแป 9= ซือมีแล 10 = ซือปูโละ
11 = ซือบือละ 12 = ดูวอบือละ 13 = ตีฆอบือละ 14 = ปะบือละฮ 15 = ลีมอบือละฮ
16 = แนบือละฮ 17 = ตู โญะบือละฮ 18 = ลาแปบือละฮ 19 = ซือมีแลบือละฮ 20 =ดูวอปูโละฮ
ตัวอย่างบทสนทนาการทักทายและแนะนำตัว
อะฮาหมัด : สวัสดีครับ เป็นอย่างไรบ้าง คุณลุงสบายดีไหม / อัซซาลามูอาลัยกุม อาปอกาบา เปาะจิ แซฮะ?
ลุงอาตัน : สวัสดี ก็สบายดี ขอบใจนะ แล้วคุณล่ะ / วาลัยกุมมุซซาลาม กาบา บา เวาะ ลากู เอะตือรีมอ กาเซะฮ อา มานอ?
อะฮาหมัด : ผมก็สบายดีครับ ขอบคุณครับ / ซายอ ยูเกาะ แซฮะ ตือรีมอกาเซะฮ
ลุงอาตัน : แล้วนี่มาหาใคร / ปะฮนิฮ มารี จารี ปียอ?
อะฮาหมัด : ผมชื่ออะฮหมัด ผมมาหาสุกรี เขาอยู่ไหมครับ / ซายอ นามอ อะฮมะ ซายอ มารี จารี สุกรี ดียอ อาดอกือเดาะ?
ลุงอาตัน : ลุงเป็นพ่อของสุกรี เขาอยู่ในบ้าน เข้ามาซิ / เปาะจิ อาเยาะฮ สุกรี ดียอ โดะ ดาแล อูเมาะฮ มาโซะ ลา
๒. คำกล่าวทักทายและกล่าวลา
สวัสดี – ซลามะ / ฉัน – อามอ,ซายอ,อากู / มี – อาดอ
สวัสดีตอนเช้า – ซลามะ+ปาฆี / คุณ – แดมอ, อาเวาะ / ไม่มี – ตะเด๊าะ
สวัสดีตอนเที่ยง – ซลามะ+ตือเงาะฮารี / เรา – กีตอ / ขอพูดกับ – เนาะกาเจะดืองา
สวัสดีตอนเย็น – ซลามะ +ปือแต / ฉันรักคุณ – ซายอกาเซะห์แดมอ / เรียนวิชาอะไร – งายี มาดะกะปอ
สวัสดีตอนค่ำ – ซลามะ+มาแล / ชื่ออะไร? – นามออาปอ / เงิน – ดูวิ
เดินทางโดยสวัสดิภาพ – ซลามะ+ยาแล / ชื่อของฉัน – นามออามอ / อะไร – อาปอ
เช่นกัน – สามอสามอ / มาจากไหน? – มารีมานอ / สุขสันต์วันรายอ – ซลามะฮารีรายอ
สบายดีหรือ – อาปอ คอบา / กินข้าวหรือยัง – มาแกนาซิลาฆี / ลาก่อน – ซลามะตีงา
สบายดี – คอบา บายเอะ / หิวข้าว – ลาปานาซิ / โอกาสหน้า – มาซอ ดะแป
ยินดีที่ได้พบกัน – ซลามะยูปอ / เรากินแล้ว – กีตอมากันเดาะห์ / แล้วเจอกันใหม่ – ยูปอ ซือมูลา
๓. คำศัพท์สำหรับการใช้กับบุคคล
เรียกผู้หญิง รุ่นป้า หรือรุ่นแม่ = เมาะ หรือ เมาะจิ
เรียกผู้ชายรุ่นลุง หรือ รุ่นพ่อ = เปาะจิ
เรียกผู้หญิงรุ่นพี่สาว = กะแว หรือ กะ
เรียกน้องสาว = อาแด
เรียกพี่ชาย = อาบัง หรือ อาแบ
หมายเหตุ : อัสสาลามูอาลัยกุม เป็นความทักทายแบบอิสลาม หมายถึง ขอความสันติสุขหรือความสุข จงมีแด่ท่าน คนที่ได้ยินคำจะตอบรับว่า “วาอาลัยกุมมุสลาม” ซึ่งแปลว่า “ขอความสันติสุข หรือความสุข จงมีแด่ท่านเช่นกัน” หวังว่าบทสนทนานี้จะมีประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากหน่วยงานทหารใด ต้องการสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับภาษามลายูถิ่นเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ wandeedrdo@yahoo.com